เปิดเบื้องหลังความสำเร็จของร้าน ‘Son in Law’ ของคุณต๋อง

Posted on 29 March 2024

Blog Post

ความสำเร็จไม่ได้เริ่มต้นจาก passion เสมอไป

ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่าคุณต๋องเริ่มต้นการเดินทางในออสเตรเลียในปี 2009 ด้วยความตั้งใจจะมาเรียนภาษา 6 เดือน เพื่อนำไปกลับไปต่อยอดในการเปลี่ยนสายงานที่ไทย

     “พอวันแรกแรกที่เรา (กลับ) ไปถึงเมืองไทยเนี่ย เรารู้สึกเลยว่าเราชอบที่นั่นมากกว่า หลังจากนั้นก็ทําวีซ่ากลับมาเพื่อมาเรียน diploma

คุณต๋องเล่าว่าตอนนั้นคุณต๋องลงเรียนแทบจะทุกอย่าง เพื่อให้ได้อยู่ที่เมลเบิร์น เริ่มจากคอร์ส Patisserie ย้ายไป Business ต่อ Advance Business, ไอที หรือแม้แต่เรียนซ่อมรถ คอร์สเดียวที่คุณต๋องไม่เรียนคือ Cookery โดยคุณต๋องบอกว่า “ไม่ชอบทำอาหาร”

จากคนไม่ชอบทำอาหาร สู่การเปิดร้านอาหารร้านแรก (และร้านต่อ ๆ มา) ด้วยตัวเอง

ในระหว่างที่เรียน คุณต๋องทำงานพิเศษไปด้วยและได้คร่ำหวอดตัวเองกับวงการร้านอาหารในตำแหน่ง Manager จนตัดสินใจออกมาเปิดร้านเป็นของตัวเองในปี 2012 ซึ่งร้านแรกเป็นรูปแบบ Fine Dining ชื่อร้าน Ayatana บนถนน Chapel ในย่านดัง Windsor

     “เราคิดว่าเรารู้และเรามีประสบการณ์และส่วนหนึ่ง…ทีนี้เราก็เปิดร้านโดยคอนเซ็ปต์จัดเต็มเลยครับ…เราก็คิดว่าเราทําได้ เรารู้หมดละ… แต่ว่าที่ไหนได้ คือมันไม่ใช่เลยครับ วันๆ หนึ่งจะมีคนเดินเข้ามาเนี่ย น้อยมาก”

    “คือเรามีประสบการณ์ด้านเราเป็นลูกจ้างเขา เราคิดว่าเรารู้เยอะ แต่เราสิ่งที่เรารู้เนี่ย แต่จริงๆ แล้วเรารู้แค่ 1 ใน 10 ด้วยซ้ํานะผมว่า… พอมาเป็นเจ้าของร้านอาหาร ทุกอย่างมันไม่เหมือนกับการที่เราเป็นลูกจ้าง แล้วเราแค่ operate ร้านให้เขา…มันคนละเรื่องเลย เพราะว่าคุณเป็นลูกจ้าง คุณไม่มีความกดดันด้านค่าใช้จ่าย ด้านความเสียหาย ด้านปัญหาที่คุณรองรับ คุณทําแต่งานเป็นในด้านบวก แต่ว่าด้านลบเนี่ย คุณไม่รู้เลยว่าเจ้าของร้านเขาจะเจออะไรบ้างในวัน ทีนี้พอมาเจอในมุมเจ้าของร้าน โดนทั้งการถูกโกงตอนสร้างร้าน โดนทั้งอุปสรรคต่างๆ ในเรื่องของ Council เรื่องอะไรที่เราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน ประกอบกับภาษาตัวเองก็ไม่ได้แข็งแรงเลยนะ เคยส่งส่งอีเมลไปหาใครก็ไม่รู้ แล้วเขาก็ตอบกลับมาว่าเขาไม่รู้เรื่องเลย พูดว่าอะไร ก็มีเหมือนกัน…แบบทุกอย่างเราไม่แข็งแรงเลย เราไร้ประสบการณ์มากๆ บางครั้ง เคยแย่สุดคืออาทิตย์หนึ่งเนี่ย คนเข้าร้านอยู่แค่สองวันก็มี ซึ่งเป็นศุกร์เสาร์อะไรอย่างเงี้ย วันอื่นมี 0 คนก็มีครับ”

หลังจากนั้นคุณต๋องก็ทำการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยการปรับทั้งเมนูและราคา เปลี่ยน Concept  ร้านให้ casual ขึ้น เปลี่ยน target ลูกค้า และย้ายไปอยู่ที่ Johnson Street โดยใช้ชื่อว่า Son in Law by Ayatana และในครั้งนี้คุณต๋องไม่ประมาท คุณต๋องใช้บริการ PR Agency และประชาสัมพันธ์ร้านผ่านโซเชียลมีเดีย แม้ทุกอย่างจะดูเอื้อให้การเปิดร้านครั้งนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี แต่ก็กลับไม่เป็นไปตามคาด

     “เปิดร้านมาเดือนแรกเงียบมากครับ…ไอ้ช่วงเวลาที่เราเปิดซึ่งเป็นเดือน สิงหาฯ เนี่ยเป็นเดือนหน้าหนาวที่สุด แล้วก็เป็นช่วงเงียบที่สุดของของทุกทุกร้านโดยส่วนมาก แล้วเราก็เปิดมาเฉยๆ  ดูฤกษ์แล้ว อะไรก็แล้วแต่ว่ามันก็ไม่ได้ช่วยเรา แล้วอีกอย่างหนึ่งเราก็ยังโนเนม…ลูกค้าเดิมแทบจะไม่ได้ตามมา เพราะว่าคนละกลุ่ม”

     “ทรหดกันพอสมควร มันไม่ได้ดีเหมือนที่เราคิดว่า อุ๊ย! จะดี เป็น casual คนมากินได้ทุกวัน ร้านเต็มได้ทุกวันเลย ไม่ใช่อย่างนั้น…แต่ในเมื่อเรากลับตัวไม่ได้ มันก็ต้องเดินหน้าต่อไป ก็พยายามทําทุกวันให้มันดีที่สุดก็พอ จนมามีจุดพลิกผัน จากขายอาหารธรรมดาก็มาสายแบ๊ว เหมือนทุกวันนี้ครับ”

คุณต๋องเล่าถึงที่มาของการเปลี่ยนแนวว่าเริ่มต้นมาจากการขายสายไหมในร้านแล้วถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียแบบขำ ๆ แต่กลับได้ผลตอบรับดีเกินคาดจากลูกค้าโดยเฉพาะชาวจีน มีการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียและมีการ tag เกิดขึ้น ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นทำให้คุณต๋องเปลี่ยนโจทย์ไปทำอาหารที่หน้าตาน่ารักและที่สำคัญต้องถ่ายรูปได้

     “ผลตอบรับดีมาก เราเห็นเงินชัดเจนครับตอนนั้น เราเห็นกําไร เห็นรายได้ที่มันชัดเจนว่า พอร้านยุ่งจริงๆ แล้วเป็นยังไง ถึงแม้มันจะมีปัญหาเรื่องอื่นๆ เราก็ไม่ได้มองเป็นสิ่งสําคัญเท่าไร มองแต่ว่าตอนนี้ธุรกิจเรา เรามาทางนี้เราไปได้ดีเว้ย เราก็เลยไปต่อ”

คุณต๋องตัดสินใจเดินหน้าขยายธุรกิจ เดินหน้าเปิดร้านที่ 3 The Pad ในย่าน CBD และนั้นคือช่วงที่โควิดเข้ามาพอดี

โควิดเข้า-แต่เรารอดตาย

คุณต๋องเล่าว่าหลังจากที่เปิดร้านที่ 3 ได้ไปได้ไม่นาน ก็โดนโควิดเข้า ร้านต่าง ๆ ต้องปิดกิจการลง ทำให้เขาต้องทำการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อีกครั้งเพื่อให้อยู่รอด โดย Concept ของร้านที่ 3 นี้ เดิมทีก็คือเน้นขายผัดไทย ขายพวกซาลาเปาต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างจาก 2 ร้านก่อนหน้าอยู่แล้ว เมื่อมีโควิดเข้ามา คุณต๋องจึงตัดสินใจลองเปิด Take-away ดูเป็นครั้งแรก ซึ่งถึงแม้จะพอขายได้ แต่ก็ยังไม่แทบไม่พอสำหรับจ่ายค่าเช่าต่าง ๆ ประกอบกับที่คุณต๋องเองยังไม่ได้ PR ในช่วงนั้น ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลเลย

     “เผอิญก็มีจุดเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าโชคดีก็ได้ ณ ตอนนั้นเพื่อนผมที่เป็นคนจีนซึ่งเป็นนายทุนใหญ่…มาชวนเราให้ลองเอาซาลาเปาไปขายในกลุ่มคนจีน ซึ่งตอนนั้นไม่เคยขาย (ซาลาเปา) take-away หรือ Ubereats เลยครับ…แล้วทีนี้มีคนสั่งมา 20 ลูก พอเพื่อนผมมาเอา เราก็ถ่ายวิดิโอกันเล่นๆ ไว้เป็นความทรงจำ… แล้วพอลองโพสต์ไปเนี่ย มันกลับกลายเป็นว่าคอมเมนต์มาถามเยอะมากว่าส่งตรงนั้นไหม ส่งตรงนี้ไหม โดยที่เราเองก็ไม่เคยทําอะไรแบบนี้มาก่อน เราก็ อ้าว! จะให้ไปส่งยังไง คนหนึ่งอยู่คนละมุมโลกเลย ทาง south คนหนึ่ง ทาง north คนหนึ่งทาง west ก็เลยบอกว่า เออ! วันเนี้ย จะไปโซนนี้นะวันนี้ไปโซนนี้นะ วันนี้เรามีการแบ่งโซน กลับกลายเป็นว่า เออ มาว่ะ คือแบบ มาเต็มเลย”

     “อาทิตย์หนึ่งเราไปแค่สองโซนครับ เต็มที่คือได้แค่นั้น ไปแค่สองวัน เพราะเราต้องกลับมาปั้นต่อ ถ้าไปทุกวันเนี่ย ปั้นขายไม่ทันแน่ๆ…เคยมีแบบ ปั้นถึงเที่ยงของอีกวันเลยครับ ไม่ได้หลับไม่ได้นอน”  

หลังโควิดก็ยังต้องปรับตัวอีก

ด้วยเรื่องค่าเช่าต่าง ๆ คุณต๋องตัดสินใจขายร้านที่ 2 หลังโควิดในปี 2022 เพื่อมา Focus กับร้านปัจจุบันมากขึ้น โดยที่ช่วงหลังโควิดก็ยังต้องมีการปรับกลยุทธ์กันอีกรอบ

     “เรามาดูตลาดก่อน มาดูสถานการณ์ก่อนว่าร้านเนี้ย มันจะไปทางไหนดี? เพราะว่าตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะเอาแต่ของ Collingwood (ร้านที่ 2) มาไหม? หรือว่าจะทํา แนวผัดไทยต่อไปแต่สุดท้ายแล้วคือมันก็ต้องเปลี่ยนเพราะว่าคนทํางานมันไม่มี ทุกคน work from home หมด คนทํางานที่เคยเป็น target เรากิน lunch  แบบไวๆ แบบผัดไทยไวๆ ถูกๆ เนี่ย ก็คือไม่มีละ มันก็เลยไม่มีทางเลือกแล้ว เราก็ต้องเอาสิ่งที่เรามีที่เป็นเอกลักษณ์ที่เราเคยรอดตายจากมันมาลองดู…ก็ตอนนี้เราเอาทุกอย่างของ Collingwood มา ทุกอย่างหมายถึงว่าเน้นของน่ารักนะครับ…เลยได้กลุ่มลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า หลายๆ คนก็ยังตามมา ก็ยังโชคดีครับ ทุกวันนี้ก็เลยมาเป็นแนวนี้เหมือนเดิม”

ข้อคิดที่อยากแนะนำสำหรับคนที่กำลังต่อสู้

     “อันนี้สําหรับคนที่อยากอยู่ที่นี่จริงๆ ครับ ก็คือเรื่องวีซ่าเนี่ย PR, citizen เนี่ย ตอนมาใหม่ๆ ผมเคยคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราไม่เก่งภาษาอังกฤษด้วยซํ้าจะไปสอบไอเอลอะไรไม่มีทาง แต่ว่าวันนึงที่คุณตัดสินใจว่าคุณอยากจะอยู่แล้วอ่ะ ผมว่าถ้าเราศึกษาดีๆ มาปรึกษา migration agent โดยตรงเนี่ย เราจะได้แนวทางที่แน่นอนว่าคุณจะเดินไปทางไหน เพราะไม่ใช่สะเปะสะปะเหมือนผม”

    “(เรื่องธุรกิจ) ถ้าเป็นไปได้นะ มาลองคุยกับเจ้าของธุรกิจหลายๆ คนดู ว่าอุปสรรคและบทเรียนหรือสิ่งที่เราจะต้องรู้ก่อนที่เราจะทํามีอะไรบ้าง? อย่าคิดว่าตัวเองแน่ครับ อย่าทําตัวเป็นน้ําเต็มแก้วเหมือนที่ผมเคยเป็น แล้วก็ทุกวันคือการเรียนรู้ คือการพัฒนาประสบการณ์ วันนี้ผมก็ยังเรียนรู้กับธุรกิจ ถึงแม้เราจะทํามาเป็นปีที่ 10 หรืออะไรแล้วเนี่ย มันยังมีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ มันมีโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดตามยุคสมัยครับ”

ความไม่ย่อท้อและการปรับตัวอย่างต่อเนื่องของคุณต๋อง สะท้อนความมุ่งมั่นที่นำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จ หลังจากทุกบทเรียน, ความพยายามและความตั้งใจ, ‘Son in Law’ ได้สร้างความสำเร็จที่น่าประทับใจในทุกวันนี้

*ทางบริษัทได้ช่วยดำเนินการเรื่องวีซ่าของคุณต๋องจากวีซ่านักเรียนสู่วีซ่านายจ้างสปอนซอร์ 457 และสมัครเป็นพีอาร์ ENS 186  ตอนนี้คุณต๋องเป็น Australian citizenเรียบร้อยแล้วค่ะ  😊

ฝากร้านคุณต๋องด้วยนะคะ ลองไปทานนะคะ ต้องติดใจแน่นอน https://www.soninlaw.com.au/

section background image

Need Visa Pathway Advice? We're here to help.