วีซ่าทักษะการขาดแคลนชั่วคราว (TSS) – ซับคลาส 482

โพสต์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2023

บล็อกโพสต์

วีซ่าทักษะการขาดแคลนชั่วคราว (TSS) (ซับคลาส 482)

สวัสดีค่ะ 

วันนี้พี่จะเขียนถึงวีซ่าที่น้องๆ ถามกันเข้ามาเยอะมากนะคะ คือวีซ่า วีซ่าทักษะการขาดแคลนชั่วคราว (TSS) (ซับคลาส 482) หรือที่ปกติเราเรียกกันว่าวีซ่านายจ้างสปอนเซอร์ หรือว่าวีซ่าทำงานค่ะ วีซ่านี้เป็นหนึ่งในวีซ่าที่อาจจะนำพาน้องๆไปสู่การเป็นพลเมืองถาวร PR (Permanent Resident) ของออสเตรเลียได้ค่ะ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับอาชีพของผู้สมัครด้วยค่ะ

TSS 482 วีซ่า คือ วีซ่าที่ช่วยเปิดโอกาสให้แก่นายจ้างในออสเตรเลียที่ไม่สามารถหาลูกจ้างในสายงานอาชีพนั้นๆ ได้มีโอกาสสปอนเซอร์แรงงานจากต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยภายในประเทศออสเตรเลียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายค่ะ

วีซ่านี้มีด้วยกัน 3 ประเภท

  1. กระแสระยะสั้น
  2. กระแสระยะกลาง
  3. กระแสข้อตกลงแรงงาน

กระแสระยะสั้น คือ ประเภทวีซ่าที่เปิดโอกาสให้นายจ้างสปอนเซอร์ลูกจ้างจากต่างชาติให้เข้ามาทำงานได้ชั่วคราวสูงสุดได้ไม่เกิน 2 ปี* และสามารถต่อวีซ่าได้อีกครั้งไม่เกิน 2 ปีเช่นกัน สาขาอาชีพที่ขอวีซ่าตัวนี้ได้ จะอยู่ใน Short-Term Skilled Occupation List (STSOL) 

*ถ้าผู้สมัครมาจากประเทศที่มีสิทธิพิเศษหมายถึงประเทศไทยก็สามารถสมัครวีซ่าได้มากกว่า 2 ปีค่ะ 

กระแสระยะกลาง คือ ประเภทวีซ่าที่เปิดโอกาสให้นายจ้างสปอนเซอร์ลูกจ้างจากต่างชาติให้เข้ามาทำงานได้ชั่วคราวสูงสุดได้ไม่เกิน 4 ปี และเป็นเส้นทางที่จะพาผู้สมัครไปสู่ PR ได้โดยผ่านวีซ่าตัวต่อไป คือ Employer Nomination Scheme (ENS) subclass 186 สาขาอาชีพที่ขอวีซ่าตัวนี้ได้ จะอยู่ใน Medium and Long-Term Strategic Skills List (MLTSSL) เท่านั้นค่ะ สำหรับบางคนที่ไม่ต่อเป็นวีซ่าถาวร ก็สามารถต่อวีซ่า 482 นี้ไปได้อีกนะคะ ไม่มีข้อกำหนดว่าต่อได้กี่ครั้งค่ะ

กระแสข้อตกลงแรงงาน คือ รูปแบบวีซ่าที่มีรายละเอียดซับซ้อนและเงื่อนไขค่อนข้างมาก เพราะว่าเป็นการตกลงกันเรื่องอาชีพและคุณสมบัติต่างๆ ระหว่างนายจ้างกับทางรัฐบาลโดยตรงค่ะ น้องๆจะต้องติดต่อทางเอเจนท์โดยตรงเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ

ในการพิจารณาวีซ่า TSS ด้วยกันมี 3 อย่างอะไรบ้าง

1. การสมัครเป็นผู้สนับสนุน: เป็นขั้นตอนของนายจ้างและยื่นขออนุมัติการสปอนเซอร์เซิร์ฟเวอร์โดยแสดงการพิสูจน์ธุรกิจที่มีการดำเนินการอยู่จริงและถูกต้องตามกฎหมาย 

เอกสารแสดงมีตัวอย่างดังนี้

  • เอกสารจดทะเบียนบริษัทหรือองค์กรอย่างถูกกฎหมาย
  • รายละเอียดของธุรกิจ องค์กรหรือบริษัท
  • แผนผังแสดงโครงสร้างขององค์กร (Organizational chart)
  • เอกสารทางการเงินของบริษัท เช่น เอกสารการยื่นขอคืนภาษีปีล่าสุด (Tax Return) เอกสารแสดงงบการเงินของบริษัท (Financial Statements) และรายการกิจกรรมทางธุรกิจ (Business Activity Statements: BAS) 

เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว Sponsorship นี้จะมีอายุนานถึง 5 ปีและนายจ้างจะสามารถเสนอชื่อเพื่อขอสปอนเซอร์ลูกจ้างต่างชาติได้มากกว่า 1 คนในระหว่าง 5 ปีนี้

บางนายจ้างอาจจะได้รับอนุมัติในขั้นตอนนี้มาอยู่แล้ว (หากเคยดำเนินการสปอนเซอร์ลูกจ้างคนอื่นมาก่อน) ซึ่งหากยังมีอายุอยู่ก็จะสามารถดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 ได้เลย (Nomination Application)  

2. ใบสมัครเสนอชื่อ: เป็นขั้นตอนของนายจ้างที่จะเสนอชื่อลูกจ้างต่างชาติเข้ามาทำงานธุรกิจของตน โดยสามารถยื่นพร้อมกับขั้นตอนการขอสปอนเซอร์ (Sponsorship Application) ในขั้นตอนแรกได้เลย หากนายจ้างไม่เคยมีการขอสปอนเซอร์มาก่อน หรือ ถ้าได้รับการอนุมัติขั้นตอนสปอนเซอร์ขั้นแรกไปแล้วและยังอยู่ในช่วงระยะเวลา 5 ปีของการอนุมัตินั้น ก็สามารถยื่นขอเสนอชื่อ Nomination ได้เลยภายในระยะเวลาดังกล่าว 

เงื่อนไขของแบบฟอร์มที่จะยื่นเสนอชื่อ 

  • จะต้องเป็นตำแหน่ง full-time ในบริษัทหรือองค์กรของนายจ้างที่เสนอชื่อ
  • จะต้องอยู่ในสาขาอาชีพตามรายการที่แสดงอยู่ ณ ปัจจุบันใน *STSOL, MLTSSL หรือ ROL (หากถูกเสนอชื่อในตำแหน่งที่อยู่ในเขต regional)
  • ค่าแรงต้องเทียบเท่ากับที่ลูกจ้างชาวออสเตรเลียทั่วไปได้รับเป็นขั้นต่ำ ของสาขาอาชีพนั้นๆ และต้องไม่ต่ำกว่า 70,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ต่อปีโดยไม่รวม Superannuation
  • นายจ้างจะต้องมีการสำรวจตลาดแรงงาน และแสดงได้ว่านายจ้างมีความจำเป็นต้องจ้างลูกจ้างต่างชาติเพื่อทำงานในตำแหน่งที่กำหนดเนื่องจากไม่สามารถหาลูกจ้างชาวออสเตรเลียได้แล้วจริงๆ
  • นายจ้างจะต้องเสนอชื่อของผู้สมัครที่ต้องการจะสปอนเซอร์ในขั้นตอนนี้ และระบุในใบสมัครว่าต้องการที่จะสปอนเซอร์เป็นเวลากี่ปี

3.การยื่นขอวีซ่า: เป็นขั้นตอนยื่นสมัครวีซ่า TSS ของลูกจ้างต่างชาติ โดยสามารถยื่นได้เมื่อการเสนอชื่อขั้นตอนที่ 2 ได้รับการอนุมัติแล้วและยังไม่หมดอายุ หรือจะยื่นสมัครวีซ่าพร้อมขั้นตอนการเสนอชื่อก็ได้เช่นเดียวกัน  

คุณสมบัติผู้สมัครวีซ่า 

  • จะต้องมีวุฒิการศึกษา ทักษะและประสบการณ์ตรงตามมาตรฐานของสาขาอาชีพนั้นๆ
  • จะต้องมีประสบการณ์ทำงานในสาขาอาชีพที่ใช้ยื่นวีซ่าอย่างน้อย 2 ปี
  • จะต้องมีผลสอบภาษาอังกฤษตามประเภทของวีซ่า
    • Short-term stream: IELTS overall 5.0 แต่ละ ทักษะ (ฟัง, พูด, อ่าน, และเขียน) ไม่ต่ำกว่า 4.5
    • Medium-term stream: IELTS 5.0 ในแต่ละ ทักษะ (ฟัง, พูด, อ่าน, และเขียน) ไม่ต่ำกว่า 5.0
    • บางกรณีผู้สมัครอาจจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบภาษาอังกฤษ
  • วีซ่าประเภทนี้ไม่จำกัดอายุผู้สมัคร

อธิบายเอกสารหลักเพื่อแสดงการสมัครวีซ่าดังต่อไปนี้

  • ผลสอบภาษาอังกฤษของผู้สมัคร หรือเอกสารที่ใช้แทนในกรณีที่ได้รับการยกเว้น
  • วุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพนั้นๆ
  • เอกสารแสดงประสบการ์ทำงานระยะเวลา 2 ปี เช่น เอกสารรับรองการทำงาน สลิปเงินเดือน เอกสารด้านการเสียภาษี 
  • เอกสารประเมินทักษะการทำงาน หรือที่เรียกว่า Skills assessment* ในบางสาขาอาชีพหรือกับผู้สมัครที่ไม่ได้เรียนจบในประเทศออสเตรเลีย

นอกจากนี้ผู้สมัครจะต้องมีเอกสารประกันสุขภาพ และใบรับรองความประพฤติจากประเทศที่อาศัยอยู่มากกว่า 12 เดือนใน 10 ปีที่ผ่านมาด้วยค่ะ 

ผู้สมัครสามารถยื่นวีซ่า TSS ได้จากในประเทศออสเตรเลีย (onshore)หรือ จากต่างประเทศก็ได้ (offshore) หากผู้สมัครยื่นขอวีซ่า TSS ในขณะที่ตนเองอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ผู้สมัครจะได้ Bridging visa ในระหว่างที่รอการอนุมัติวีซ่าหลักนั้นๆ

วีซ่า 482 TSS นี้เป็นวีซ่าที่น้อง ๆ ส่วนใหญ่ใช้เป็นช่องทางในการขอเป็นพลเมืองถาวร (พีอาร์) เพราะว่าวีซ่านี้ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญเลยค่ะ ถ้าน้อง ๆ สนใจที่จะสมัครวีซ่าประเภทนี้ หรือว่าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถนัดปรึกษากับเราได้ที่ https://www.i-migration.com.au/booknow

ติดตามและอ่านบทความของเรา ไว้พบกันที่บทความต่อไปค่ะ 😊 

เอมี่ สุวิญญัติชัยพร

ตัวแทนการย้ายถิ่นฐานที่ลงทะเบียน

มาร์น 1385337

ข้อมูลต่างๆ ในบทความนี้เป็นการอัปเดตล่าสุดในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565

ภาพพื้นหลัง

หากคุณกำลังต้องการคำแนะนำเรื่องวีซ่า เราพร้อมให้ความช่วยเหลือ